บทความใหม่

กิจกรรมที่กำลังมาถึง

ตำรวจจับโรงงานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มูลค่า 5.6 ล้านบาท

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

​กรุงเทพฯ (วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2554) – โรงงานสี่แห่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ พบมีรายรับต่อปีรวมกันกว่า 2,300 ล้านบาท   ​การเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะยังคงดำเนินต่อไป ในขณะที่กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือ บีเอสเอ เตรียมนำส่งรายชื่อองค์กรธุรกิจราว 1,000 แห่ง ที่ต้องสงสัยว่าละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในการดำเนินกิจการให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ   ​ในการเข้าตรวจค้นระลอกล่าสุด มีโรงงานผลิตสินค้าโลหะภัณฑ์สองแห่งรวมอยู่ด้วย พบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของออโต้เดสค์ (Autodesk) ไมโครซอฟท์ (Microsoft) และไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ บนพีซีจำนวน 72 เครื่อง โรงงานทั้งสองแห่งมีสินทรัพย์รวมกว่า 190 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ องค์กรธุรกิจที่ถูกตรวจค้นในสัปดาห์ที่ผ่านมายังมีโรงงานสัญชาติเยอรมัน โรงงานสัญชาติสิงคโปร์ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง และบริษัทผู้ให้บริการด้านคอมพิวเตอร์ ที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในการดำเนินกิจการรวมอยู่ด้วย     ​การตรวจค้นจับกุม เกิดขึ้นหลังจากที่ตำรวจได้ออกโรงเตือนแล้วว่ากำลังจับตามองอุตสาหกรรมที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สูง คือ กลุ่มโรงงานผลิตสินค้า รับเหมาก่อสร้าง และออกแบบ ซึ่งจากสถิติการร้องเรียนในประเทศไทยพบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มาก     ​นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังเปิดเผยว่า บีเอสเอได้ขอความร่วมมือพร้อมเสนอความช่วยเหลือไปยังผู้บริหารองค์กรธุรกิจหลายพันแห่ง ในการตรวจสอบการใช้ซอฟต์แวร์ภายในองค์กร และการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ เพื่อสนับสนุนให้องค์กรธุรกิจเหล่านี้ปรับเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์แท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี ขณะนี้บีเอสเอได้หันหน้ามาพึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้ติดตามองค์กรธุรกิจที่ไม่ตอบสนองต่อการขอความร่วมมือดังกล่าวแล้ว   ​“เมื่อองค์กรธุรกิจปฏิเสธที่จะเคารพในสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญาของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ จึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการและกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) กล่าว “เราจะดำเนินการตรวจสอบองค์กรธุรกิจทั้งหมดตามรายชื่อที่บีเอสเอส่งให้เรา” ​ ​เจ้าหน้าที่ตำรวจจากบก. ปอศ. มุ่งมั่นดำเนินงานเพื่อลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย ผู้แทนการค้าของสหรัฐอเมริกา หรือ ยูเอสทีอาร์ ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาให้ไทยยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่า การตรวจจับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จะยังคงดำเนินต่อไปเพื่อช่วยให้ประเทศไทยหลุดจากรายชื่อกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษให้ได้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังกล่าวว่า การลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยที่ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 75 ยังจะส่งผลดีทางด้านเศรษฐกิจด้วย ​ ​“ไทยจำเป็นต้องเร่งปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เพื่อให้หลุดจากรายชื่อประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าว “นอกจากนี้การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญายังเป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทย ตามนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และก่อให้เกิดการจ้างงานคุณภาพ ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม แต่เราต้องคุ้มครองความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้”   ​จากสถิติของบก. ปอศ. การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในปีพ.ศ. 2553 คิดเป็นมูลค่า 179.5 ล้านบาท ตำรวจกล่าวว่าตัวเลขนี้จะต้องลดลง ​ ​ตั้งแต่ต้นปีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นโรงงานเกือบ 25 แห่ง ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในการดำเนินกิจการ   ​ตัวเลขนี้ไม่ต่างจากปีพ.ศ. 2553 ที่โรงงานเกือบ 50 แห่ง ถูกตรวจค้นในข้อหา ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในการดำเนินกิจการ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการออกแบบคืออีกกลุ่มหนึ่งที่มีหลักฐานว่ามีการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจกันมาก ในปีพ.ศ. 2553 บริษัทออกแบบและสถาปนิกกว่า 40 แห่ง ถูกตรวจค้นในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์   ​กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือ บีเอสเอ ย้ำว่า เป้าหมายของการตรวจค้นการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ คือ องค์กรธุรกิจเท่านั้น และกล่าวว่าบีเอสเอได้พยายามให้ความรู้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้บริหารเข้าใจถึงความจำเป็นในการปฏิบัติให้เป็นถูกต้องตามกฎหมายลิขสิทธิ์ไทย     ​ผู้ที่แจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ผ่านทางสายด่วน หมายเลขโทรศัพท์ 0-2714-1010 หรือผ่านทางเว็บไซต์ มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัลสูงสุดถึง 250,000 บาท ข้อมูลของผู้แจ้งจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.stop.in.th

 

Share this post

Submit to FacebookSubmit to TwitterSubmit to LinkedIn