ตำรวจรุกหนัก ปราบซอฟต์แวร์เถื่อนกว่าครึ่งร้อยบริษัท พบละเมิดลิขสิทธิ์สูงกว่า 60 ล้านบาท

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) เข้าตรวจค้นซอฟต์แวร์เถื่อนใน 48 บริษัท เมื่อสองเดือนที่ผ่านมา พบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์คิดเป็นมูลค่าราว 67.5 ล้านบาท ถือเป็นช่วงที่มีความถี่การจับกุมคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สูงที่สุดตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยทั้ง 48 บริษัทมีรายได้เฉลี่ยต่อปีราว 188.5 ล้านบาท รายใหญ่ที่สุดที่ถูกจับดำเนินคดีมีรายได้ต่อปีล่าสุด 3.9 พันล้านบาท

 

บรรดาบริษัทที่ถูกตรวจค้นทั้งหมดมี 30 บริษัทตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ รวมทั้งบริษัทผลิตเหล็กซึ่งมีพนักงาน 78 คน ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของออโตเดสก์® ไมโครซอฟท์ และ ไทยซอฟท์แวร์ เอ็นเตอร์ไพร์ส บริษัทดังกล่าวมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และจีน นอกนั้นเป็นบริษัทผู้จำหน่ายฟอร์นิเจอร์ บริษัทวิศวกรรม บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า บริษัทรับติดตั้งกล้องวงจรปิด บริษัทผู้ให้บริการบำรุงรักษาระบบ บริษัทรับออกแบบก่อสร้าง บริษัทอีเวนท์และมาร์เก็ตติ้ง บริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรที่ใช้ในการสร้างเครื่องหมายบาร์โค้ด บริษัทรับเหมาก่อสร้าง บริษัทผลิตอาหาร และ ผู้ค้าส่งของเล่นพลาสติก

การบุกเข้าตรวจค้นซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้นอย่างหนักในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน เป็นการแจ้งเตือนให้ภาคธุรกิจไทยตระหนักว่าการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์เป็นการกระทำผิดกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

 

“องค์กรธุรกิจภาคเอกชนต้องเร่งรีบแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ภายในองค์กร โดยต้องคิดว่าภายในองค์กร มีความต้องการใช้ซอฟต์แวร์ใดบ้าง และเลือกใช้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงใช้ซอฟต์แวร์แท้ มิเช่นนั้นอาจถูกจับดำเนินคดี จ่ายค่าปรับ และต้องโทษ รวมถึงซื้อซอฟต์แวร์แท้มาใช้ให้ถูกต้อง” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการและโฆษก บก. ปอศ. กล่าว

 

“หากองค์กรธุรกิจไม่เร่งรีบแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ภายในองค์กรแล้ว ตำรวจจำเป็นต้องปฎิบัติตามหน้าที่ คือต้องบังคับใช้กฎหมาย เข้าตรวจค้นสถานประกอบการ เก็บหลักฐานการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ และให้หยุดใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ทันที”

 

พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บก. ปอศ. มีนโยบายเข้าปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อย่างจริงจังในเขตธุรกิจของกรุงเทพฯ ตามจังหวัดใหญ่ๆ และเขตนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญ นอกจากนี้ ตำรวจจะผนึกกำลังกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์และการลงทะเบียนจัดการใบอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ซอฟต์แวร์แก่ภาคเอกชนด้วย ถึงแม้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซีในประเทศไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 80% ในปี พ.ศ.2549 เหลือ 72% ในปี พ.ศ.2554 ตามผลการศึกษาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลก โดย International Data Corporation (IDC) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 แต่เรายังคงต้องทำงานหนักกันอีกมากเพื่อลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลงอีก โดยอัตราเฉลี่ยของการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซีในเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 60% ภายใต้พ.ร.บ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มีบทลงโทษทั้งจำและ/หรือปรับ

 

ผู้ที่แจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ผ่านทางหมายเลขโทรศัพท์ 0-2714-1010 หรือผ่านทางเว็บไซต์ มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัลสูงสุดถึง 250,000 บาท โดยข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.stop.in.th

Share this post

Submit to FacebookSubmit to TwitterSubmit to LinkedIn