จับอีกไม่หยุด "ตำรวจบุกจับองค์กรธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ครั้งใหญ่ที่สุด"

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

ตำรวจบุกจับองค์กรธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ครั้งใหญ่ที่สุด หลายองค์กรธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในกรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต สมุทรปราการและเชียงใหม่กำลังถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

 

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติเดินหน้าตรวจจับองค์กรธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังได้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ มุ่งเน้นงานสืบสวนและขยายการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ภายในช่วงแปดเดือนแรกของปี 2556 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการตรวจจับองค์กรธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ไปแล้วถึง 208 แห่ง เมื่อเทียบกับ 179 แห่งของตลอดทั้งปี 2555 โดยองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใน 20 จังหวัดที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั่วประเทศ

“เราพบว่าธุรกิจยังคงไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร ในการปฏิบัติตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์” พันตำรวจโท ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการและโฆษก กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) กล่าวว่า “เราจะเดินหน้าตรวจจับองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ต่อไป ถึงแม้ว่าในช่วงห้าปีที่ผ่านมาอัตราการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในประเทศไทยได้ลดลงอย่างมากแล้วก็ตาม”

 

ล่าสุด มีสองบริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของอะโดบี (Adobe) และ ออโต้เดสก์® (Autodesk®) ทั้งสองบริษัทมีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยและตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ โดยหนึ่งในบริษัทดังกล่าวถูกตรวจพบการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล 16 เครื่อง ส่วนอีกบริษัทถูกตรวจพบซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในคอมพิวเตอร์ 11 เครื่อง ทั้งสองบริษัทมีลักษณะเหมือนกับบริษัทส่วนใหญ่ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจจับ คือดำเนินธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องพึ่งพาการใช้งานซอฟต์แวร์ หนึ่งในบริษัทดังกล่าวมีผลประกอบการประจำปีอยู่ที่ราว 50 ล้านบาท ขณะที่อีกบริษัทหนึ่งมีผลประกอบการเกินกว่า 100 ล้านบาท

 

โดยเมื่อเดือนที่แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้จับกุมบริษัทที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับบริษัทอาหารและเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ระดับโลก ไปเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการตรวจจับองค์กรธุรกิจอีกหลายแห่งที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็นชาวเกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ โดยเจ้าหน้าที่พบว่าองค์กรธุรกิจเหล่านั้นใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่คิดค้นโดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยและต่างประเทศ “องค์กรธุรกิจที่ละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ไทยเป็นอุปสรรค ต่อศักยภาพในการแข่งขันและสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศ” พ.ต.ท. ชัยณรงค์ กล่าว

 

“การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นประเด็นสำคัญของการค้าในระดับโลก ระบบห่วงโซ่การผลิตกำลังถูกตรวจสอบในการปฏิบัติตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา องค์กรธุรกิจที่ละเมิดกฎหมายซอฟต์แวร์กระทำการที่ไม่เป็นธรรมต่อองค์กรธุรกิจที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประชาชนคนไทยสามารถเป็นหูเป็นตาในการช่วยลดปัญหานี้ได้ด้วยการแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ เมื่อพบเห็นการใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์” ภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ผู้ใดกระทำความผิดละเมิดลิขสิทธิ์จะได้รับโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

สำหรับผู้ที่แจ้งเบาะแสการใช้งานซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านสายด่วนพันธมิตรซอฟต์แวร์ (BSA Hotline) ที่ 02-714-1010 หรือรายงานผ่านทางออนไลน์จะได้รับค่าตอบแทนสูงสุดถึง 250,000 บาท โดยข้อมูลของ ผู้แจ้งเบาะแสจะถูกปิดไว้เป็นความลับ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปที่ www.stop.in.th

Share this post

Submit to FacebookSubmit to TwitterSubmit to LinkedIn