บก.ปอศ.ตรวจค้น 4 ร้านค้าย่านแฮปปี้แลนด์ จำหน่ายซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและแพร่กระจายมัลแวร์...ทีมงานนิตยสารโอเพนซอร์สทูเดย์ อยากให้หันมาใช้โอเพนซอร์ส OpenSource

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ทางนิตยสารโอเพนซอร์สทูเดย์ OpenSource2day ได้รับแจ้งข่าวจาก กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าได้เข้าตรวจค้นร้านค้าที่จำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ 4 แห่งในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ในการเข้าตรวจค้นครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเน้นที่ร้านค้าซึ่งติดตั้งซอฟต์แวร์เถื่อนลงบนคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ที่ลูกค้าเพิ่งซื้อ ซอฟต์แวร์ที่ขายกันในราคาเพียงไม่กี่ร้อยบาทแต่มักมีมัลแวร์และบอทเน็ตแฝงมาด้วย ทำให้ผู้ใช้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ ในโลกไซเบอร์ นี่เป็นวิธีที่ร้านค้าที่ใช้ในการสร้างรายได้มูลค่าหลายล้านบาท

ร้านค้าสองแห่งที่ถูกตรวจค้นตั้งอยู่ในศูนย์การค้าย่านถนนศรีนครินทร์ ส่วนอีกร้านหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ย่านแฮปปี้แลนด์ และร้านที่สี่ อยู่ในศูนย์การค้าย่านราชปรารภ พนักงานของร้านถูกตั้งข้อกล่าวหาติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ลงบนคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ ทำให้ตัวเครื่องอาจเผชิญกับมัลแวร์ตลอดจนความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอื่นๆ 

 

การเข้าตรวจค้นร้านค้าในศูนย์การค้าย่านถนนศรีนครินทร์ ตำรวจพบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์หลายรายการ ประกอบด้วย ไมโครซอฟท์ วินโดวส์ 7 อัลติเมท (Microsoft Windows 7 Ultimate) และ ไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ โปรเฟสชั่นแนล พลัส 2010 (Microsoft Office Professional Plus 2010) พนักงานของร้านถูกตั้งข้อหาจำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในวงกว้าง และในการเข้าตรวจค้นในร้านค้าอื่นๆต่อมา ตำรวจพบว่าร้านค้าใช้วิธีเดียวกัน คือเสนอซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ให้แก่ลูกค้าที่ซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ พนักงานได้นำเสนอซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของไมโครซอฟท์หลายรายการ ทั้งๆ ที่ซอฟต์แวร์บางตัวมีราคาจำหน่ายเพียงแค่ไม่กี่ร้อยบาท พนักงานและเจ้าของร้านเหล่านี้ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ไทย และอาจถูกจำคุกระหว่าง 6เดือนถึง 4 ปี พร้อมทั้งถูกปรับเป็นจำนวนเงินตั้งแต่ 100,000 ถึง 800,000 บาท

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่าจะมุ่งปราบปรามทั้งร้านค้าปลีกที่จำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์และผู้ขายในรูปแบบออนไลน์ที่กำลังเพิ่มปริมาณมากขึ้น เมื่อต้นปีที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เรียกร้องให้ทุกคนร่วมมือกันลดการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยด้วยการรณรงค์ “ไม่ซื้อ ไม่ใช้ และไม่ขาย” และกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้สนองรับนโยบายโดยริเริ่มกิจกรรมต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ

 

แม้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญในทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยังคงมีความกังวลเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างซอฟต์แวร์เถื่อนกับมัลแวร์และอาชญากรรมไซเบอร์ อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของประเทศไทยลดลงจากร้อยละ 80 ในปี 2549 มาอยู่ที่ร้อยละ 60 ในปัจจุบัน

 

“ร้านที่ขายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ทำให้ลูกค้าต้องเสี่ยงกับอาชญากรรมไซเบอร์” พ.ต.อ.วินัย วงษ์บุบผา รอง ผบก.ปอศ. กล่าว “เราพบว่ามีความเชื่อมโยงกันระหว่างซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย มัลแวร์ และอาชญากรรมไซเบอร์ เราจึงพยายามกำจัดการจำหน่ายซอฟต์แวร์เถื่อนตั้งแต่ที่ต้นตอ เราหวังว่าการเข้าตรวจค้นเหล่านี้จะกระตุ้นให้ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อตื่นตัวถึงความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ”

 

ปัจจุบันประเทศไทยเสี่ยงกับการถูกโจมตีด้านโซเบอร์เป็นลำดับที่สองในกลุ่มอาเซียน ในปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์โจมตีทางไซเบอร์มากถึง 4,300 ครั้ง โดยร้อยละ 35 เป็นการปฏิบัติการของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ประสงค์ร้าย (malicious software) ร้อยละ 26 เกิดจากการหลอกลวงให้โอนเงินหรือชำระเงินที่สร้างความเสียหาย และร้อยละ 23 เป็นเรื่องเจาะเข้าสู่เครือข่ายโดยไม่ได้รับสัญญาอนุญาต นอกจากนี้ ยังพบว่าคอมพิวเตอร์อย่างน้อย 3 ล้านเครื่องจากทั้งหมด 8 ล้านเครื่องมีมัลแวร์บอทเน็ตแฝงอยู่ซึ่งทำให้ยากในการติดตามตัวผู้จู่โจม 

 

ทีมงานนิตยสารโอเพนซอร์สทูเดย์ แนะนำให้คนไทย หันมาใช้โอเพนซอร์ส OpenSource เพื่อทดแทนการละเมิดซอร์ฟแวร์เชิงพาณิชย์ดังกล่าว

 

Share this post

Submit to FacebookSubmit to TwitterSubmit to LinkedIn