การเรียนการสอนออนไลน์ในยุค Covid-19

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

การเรียนออนไลน์ กับการศึกษาทางไกลดูเหมือนจะเป็นเรื่องเหมือนกัน อันที่จริงแล้ว 2 เรื่องนี้ มีการนำไปใช้ที่ต่างกัน แต่ต้องไปด้วยกัน การศึกษาทางไกลมีการเริ่มมานานแล้ว โดยที่เรารู้จักกันดีก็คือ การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง สำหรับการเรียนออนไลน์ที่ที่แท้จริงนั้น รูปแบบจะต้องเปลี่ยนไปจากการศึกษาทางไกล ซึ่งรูปแบบการเรียนรู้ในยุคที่มีเทคโนโลยีพร้อม จะต้องไปเป็นการสอนในรูปแบบทิศทางเดียว และตอนนี้ทุกโรงเรียนต้องใช้การเรียนการสอนออนไลน์ เพราะปัญหาของ covid-19 เป็นเชื้อเร่งให้การเรียนออนไลน์ต้องเกิดขึ้นทุกชั้นปี ตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงปริญญาเอกก็ต้องเรียนออนไลน์เช่นกัน...

ในอดีตเมื่อคอมพิเตอร์เข้ามามีบทบาทในการศึกษา เรารู้จักคำว่า CAI (computer-aided instruction หรือ computer assissted instruction) หรือ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน โดยครูผู้สอนสร้างบทเรียนช่วยสอน แจกให้นักเรียนไปเรียนนอกเวลา โดยทำเป็นรูปแบบ CD-ROM หรือ DVD ซึ่งการเรียนแบบนี้ นักการศึกษาก็ไม่ได้เรียกว่าเป็น e-learning ทั้งๆ ที่ใช้สื่อการสอนเป็น CD/DVD ROM ผ่านคอมพิวเตอร์ เป็นรูปแบบของสื่อผ่านการออกแบบในรูปแบบมัลติมีเดีย แต่สิ้นเปลืองแผ่น CD อีกทั้งยังไม่สามารถติดตามได้ว่า นักเรียนเอาไปแล้วได้เรียนตามที่แจกไป หรือ ได้เรียนครบทำแบบฝึกหัดที่ออกแบบการสอนเอาไว้ และยังมีต้นทุนในการทำสำเนาอีกด้วย...

ยุคถัดมา เข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต ปัญหาเรื่องการผลิตแผน CD/DVD หมดไป และสามารถแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้เว็บไซต์ นักการศึกษในยุคนั้นเรียกการสอนแบบนี้ว่า WBI หรือ Web base instruction หรือ เว็บช่วยสอน โดยครูก็เรียนการทำเว็บไซต์ เพิ่มเนื้อหาต่างๆ ตลอดจนข้อมูลเอาขึ้นเว็บไซต์และสามารถใช้ Video ได้ด้วย ในระยะหลัง เว็บไซต์พัฒนาให้สามารถถ่ายทอดสดออกไปยังโรงเรียนปลายทางได้ แต่ในยุคนั้น การลงทุนค่อนข้างจะมีราคาสูงเมื่อต้องทำการถ่ายทอดสด ซึ่งปัญหาที่ตามมา คือ เป็นยุคเริ่มต้นของอินเตอร์เน็ต WBI ก็ยังไม่สามารถรู้ได้ว่า เด็กแต่ละคนเข้ามาเรียนรู้ทำแบบฝึกหัดได้ หรือใครเข้ามาเรียนบ่อยที่สุด WBI ไม่สามารถจำกัดจำนวนผู้เรียนได้เหมือนปัจจุบัน เราเข้าไปอ่านความรู้ต่างๆ ในเว็บไซต์ได้ด้วย E-book นั่นเอง...

ยุคต่อไป โปรแกรมคอมพิวเตอร์ก้าวหน้าขึ้นมาก สามารถเขียนโปรแกรมควบคุมเนื้อหาการเข้าเรียนบนเว็บไซต์ได้ สามารถระบุตัวตนผู้เรียนได้ เริ่มมีรูปแบบการวัดผลออนไลน์ระบบล๊อกอิน (Login) หรือรายงานตัวเข้าใช้ระบบทำให้เกิดโปรแกรมบริหารจัดการห้องเรียนออนไลน์ ซึ่งเรียก ระบบนี้ว่า Learning Managment System (LMS) ระบบนี้จะเปิดให้ผู้สอนเข้าระบบแล้ว เข้าไปสร้างเนื้อหาตามวัตถุประสงค์การสอน เพิ่มจำนวนผู้เรียนเข้ามาในระบบ บริหารจัดการเนื้อหาได้ เพิ่มแบบฝึกหัดได้ เพิ่มข้อสอบ สามารถติดตามพฤติกรรมผู้เรียนที่เข้ามาในระบบมากหรือน้อย ชมวีดีโอ หรือทำแบบฝึกหัด ส่งรายงานหรือการบ้านได้ ตามแผนการสอนที่วางไว้ มีระบบ ถาม-ตอบ โดยผู้เรียนจะต้องทำการ Login เข้าระบบ ลักษณะแบบนี้จึงเรียกว่า e-learning...

การสอนในห้องเรียน ผู้สอนจะรู้ว่าใครขาดเรียน จำนวนชั่วโมงเรียนไม่ครบ ใครไม่ส่งการบ้านตามเวลาที่กำหนด ใครสนใจเรียน ใครไม่ตั้งใจเรียน เมื่อการสอนในห้องเรียน ผู้สอนปรับรูปแบบพฤติกรรมผู้เรียนในแบบสถานที่จริง ดังนั้น การเรียนออนไลน์ผู้สอนก็จะต้องรู้ว่า นักเรียนคนไหนไม่ค่อยเข้ามาเรียน ไม่ทำแบบฝึกหัดออนไลน์ ไม่ส่งการบ้าน ดูวีดีโอในบทเรียนแล้วยังทำคะแนนแบบฝึกหัดได้น้อยก็จะติดตามได้ จึงมักจะมีอีกคำพูดเปรียบเทียบว่า ระบบ e-learning คือ ห้องเรียนเสมือนจริงหรือ Virtual Classroom...

การเรียนออนไลน์ (e-learning) มีรูปแบบการสอนอยู่ 3 แบบ
1. Synchronize Learning การสอนออนไลน์แบบสอนสด
2. Asynchronous learning การเรียนออนไลน์ด้วยตัวเอง
3. Blended learning การเรียนออนไลน์แบบผสมผสาน

Synchronize Learning

เป็นการสอนออนไลน์ที่เห็นอยู่มากในปัจจุบัน คือ การสอนออนไลน์แบบสอนสด ผู้เรียนและผู้สอนนัดเวลาให้ตรงกันแล้วก็เริ่มสอน ซึ่งเป็นวิธีการสอนที่ใช้กันอยู่ โดยใช้เทคโนโลยีการถ่ายทอดสด หรือ ใช้เครื่องมือในการประชุมทางไกล ผู้สอนสามารถบันทึกการสอนได้ แต่การสอนนี้ ใช้เวลาคลิปวีดีโอยาวนาน เหมือนกับการสอนในโรงเรียนที่ผู้สอนเป็นศูนย์กลาง ไม่แตกต่างจากการสอนในชั้นเรียนปกติ แม้ว่าผู้สอนจะมีการปรับรูปแบบการสอน แต่ผู้เรียนต้องมีสมาธิขั้นสูง ผู้เรียน ไม่สามารถกลับมาทบทวนย้อนหลังได้ เนื่องจากไฟล์วีดีโอมีขนาดใหญ่ การเรียนการสอนแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องมีระบบ LMS ก็สามารถสอนอนไลน์ได้ แต่การนั่งเรียนกับหน้าจอนานๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง ผู้เรียนจะเครียดมาก ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ สำหรับการสอนในลักษณะนี้นี้ อาจปรับประยุกต์ใช้เป็นการเรียนออนไลน์แบบตัวต่อตัว

ข้อดีของการสอนแบบ Synchronize
ปัจจุบันเราเรียนการสอนในรูปแบบนี้ได้รับความนิยม ต้องมีการออกแบบการสอน ออกแบบกิจกรรมการมีส่วนร่วมของผู้เข้าเรียน ก่อนเข้าสู่บทเรียน และแนะนำเครื่องมือที่ใช้ในการเรียน เช่น ข้อความถาม-ตอบ การใช้ปุ่มยกมือ การแชร์ไฟล์ การแชร์หน้าจอของผู้เรียน ผู้เรียนและผู้สอนจะทำความรู้จักกันได้ และผู้เรียนกับผู้เรียน ก็จะสามารถปรึกษากันได้ผ่านช่องทางสื่อสาร มีการเรียนรู้ การเข้าสังคมในรูปแบบใหม่ แต่กระบวนการสอนตั้งแต่เริ่มต้น ต้องมีการออกแบบกิจกรรม อาจจะเสียเวลาไปบ้างแต่ก็เกิดผลในระยะยาว

Asynchronous learning

เป็นรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ที่เห็นกัน เช่นในรูปแบบของ Edx หรือ Coursera หรือ Udemy ที่ผู้เรียนและผู้สอนไม่ต้องมีเวลาเรียนตรงกัน พร้อมเมื่อไหร่ก็ Login เข้าระบบเข้าไปเรียนได้ตลอดเวลา วิธีการนี้ได้รับความนิยมในบริษัทเอกชนและหน่วยงานของรัฐ ที่ต้องมีการฝึกอบรมให้กับพนักงานและพนักงานไม่ต้อง ลางาน เสียเวลางาน พนักงานเรียนหลังเลิกงานและทำข้อสอบให้ผ่านตามเกณ์ของผู้สอน การเรียนกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศสำหรับหลักสูตรระยะสั้นหรือ Micro Couse ก็มักจะใช้วิธีการสอนในรูปแบบนี้ โดยการสอนจะต้องมีระบบ LMS เข้ามาร่วมด้วย ผู้สอนติดตามการเรียนของผู้เรียนได้ ผู้สอนอาจจะบันทึกการสอนไว้ล่วงหน้า หรือพัฒนาสื่อการสอนในรูปแบบเดียวกับ ยุค CAI ก็ได้ ที่สามารถโต้ตอบกับแบบฝึกหัดหรือมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อได้ และระบบจะทำการบันทึกกิจกรรมต่างๆ ลงไปในระบบ ผู้เรียนเรียนให้ครบและทำข้อสอบด้วยตัวเองให้ผ่าน การออกแบบการสอนในแต่ละบท จะใช้วิธีการสอนเพียงแค่วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมเดียวและมีการบันทึกไว้ล่วงหน้า แต่ละบทสามารถย่อยเนื้อหาให้สั้นลงและได้ตามวัตถุประสงค์

ข้อดีของการเรียนรู้ แบบ Asynchronous learning
เหมาะกับผู้เรียนที่ชอบเลือกเวลาเรียนได้ด้วยตัวเอง สามารถบริหารจัดการเวลาเรียนได้ตามความสะดวก ทบทวนความรู้ได้ตลอดเวลา

Blended learning

เป็นรูปแบบการเรียนที่ผสมผสานกันทั้ง 2 แบบ ผู้สอนมีการพบปะทางออนไลน์นัดผู้เรียนเข้ามาเรียนและสอบถามกันในเรื่องของรายวิชาที่เรียน ปล่อยสื่อการสอนออกไปในระบบให้นักเรียนกลับไปเรียนนอกเวลา เวลาถัดมาก็นัดกันมา สอบถามถึงสื่อการสอนที่ให้ไปดูว่ามีอะไร ติดปัญหาอะไร มีอะไรที่ไม่เข้าใจทั้งแบบฝึกหัด หรือให้นักเรียนเขียนคำถามกันมาถามคนละ 2 ข้อ การสอนในลักษณะนี้ ผู้สอนจะทำการบันทึกการบรรยายไว้ล่วงหน้า ไม่ต้องสอนสด แต่ในเทอมถัดไปอาจจะมีการเพิ่มเติม ปรับปรุงบทเรียนตามความต้องการ ระบบการเรียนแบบนี้ จะต้องมี LMS เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการการสอนนักเรียนไม่ต้องนั่งหน้าจอนานๆ ทั้งคาบเรียน 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมง ผู้เรียนจะมีความเครียดสูง แต่เมื่อมีการสร้างสื่อไว้ล่วงหน้า เนื้อหาแต่ละเรื่องอาจจะไม่ยาวมากเกินไป และมีวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่ไม่กว้างมาก แต่จะสามารถมีจำนวนคลิปได้มากมาย จนครบวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ทั้งรายวิชา และครบการสอนได้ตามชั่วโมงที่ออกแบบไว้

การสอนออนไลน์ กับการสอนทางไกลแตกต่างกันอย่างไร

การเรียนการสอนทางไกล หรือ Distant Learning มีมานานก่อนที่เราจะมีอินเทอร์เน็ต การสอนทางไกลเริ่มตั้งแต่มหาวิทยาลัยส่งหนังสือไปให้ผู้เรียน จากนั้น ก็เปิดทีวีตามเวลานัดหมายและก็เรียนกันไป และหลังจากนั้น เมื่อมีการสอบ ผู้เรียนก็ได้สอบตามศูนย์สอบ ที่ได้มีการตกลงกันไว้โดยศูนย์สอบ ส่วนมากก็จะเป็นโรงเรียนในแต่ละจังหวัด จะเห็นว่าการเรียนทางไกล มีรูปแบบการสอนเหมือนกับ Synchronize Learning ที่ผู้สอนและผู้เรียนนั้น มีเวลานัดหมายตรงกันและเข้าเรียน โดยผู้สอนเป็นศูนย์กลาง แต่ผู้เรียนไม่สามารถสอบถามในเวลาเรียนได้ เพราะเป็นการสื่อสารทางเดียว

ปัจจุบันเมื่อต้องมีการเรียนออนไลน์ แต่การสอนกลับยังเป็นรูปแบบการสอนทางไกล ซึ่งในขณะที่สอนสามารถคุยโต้ตอบกันได้ แต่ผู้เรียนก็ยังปิดกล้อง อาจจะด้วยสาเหตุของความไม่พร้อมของบ้านพักอาศัย หรือบางคนอยู่กับเพื่อน หรือที่บ้านมีพี่น้องทอร์เน็ตช้า ถ้าเปิดกล้องไปด้วยเนื้อหาก็จะมีการสะดุดเป็นช่วงๆ ผู้สอนต้องสอนสดไม่สามารถสร้างเนื้อหาไว้ก่อนได้ เพราะบางแห่งนับชั่วโมงสอนของผู้สอน ต้องสอนให้ได้จำนวนชั่วโมงตามที่รับผิดชอบ ยังไม่นับว่าครูผู้สอนก็มีลูกที่บ้านต้องเรียนออนไลน์ด้วยเช่นกัน แต่สามารถปรับรูปแบบการสอน ซึ่งได้เขียนไว้ในหัวข้อคำแนะนำ

ตารางเปรียบเทียบ ระหว่าง Distant Learning และ e-learning

 

คำแนะนำ
การเรียนออนไลน์แบบผสมผสาน จึงเป็นรูปแบบที่ลงตัวที่สุดในการเรียนการสอนทุกระดับชั้นปี ด้วยความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานของระบบ e-learning คือ ระบบ LMS(Learning management System) ปรับวิธีการสอนแบบทางไกลมาเป็นแบบ Virtual Classroom ผู้สอนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน ผ่าน กิจกรรมต่างๆ ดึงเอาหลักการเรียนแบบให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม เช่น เอาการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-Based Learning) ให้นักเรียนช่วยกันแก้ปัญหา แสดงความคิดเห็น การเรียนแบบผสมผสาน จะยังสามารถนำมาใช้หลังจากที่ปัญหา covid-19 ลดน้อยลง โดยที่ครูก็ใช้สอนในห้องเรียน และเรียนทบทวนจากสื่อในระบบ LMS ได้ นักเรียนทำแบบฝึกหัดในระบบ LMS หรืออาจจะเป็นการสอบออนไลน์โดยผู้สอนคุมการสอบออนไลน์ในชั้นเรียนได้อีกด้วย จึงเป็นระบบการสอนที่ตอบโจทย์ทั้งปัจจุบันและอนาคต

การเตรียมความพร้อม จากที่ได้ทำการอธิบายถึงการเรียนออนไลน์ทั้งสามรูปแบบ ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ ต้องเข้ามาสร้าง แพลตฟอร์ม LMS ให้กับโรงเรียนได้เข้ามาสร้างโรงเรียนออนไลน์ และโรงเรียนออนไลน์ก็จะอนุญาตให้ครูเข้ามาสร้างห้องเรียนตามรายวิชาที่สอน ส่วนนักเรียนก็จะมี Account ที่เข้าได้เฉพาะโรงเรียนและรายวิชาของเขาเท่านั้น นักเรียนสามารถเข้าไปเรียนซ้ำได้ตลอดเวลา ถึงแม้จะจบการศึกษาไปแล้ว นักเรียนจะเห็นเฉพาะวิชาที่เขาเรียนเท่านั้น ไม่ต้องเห็นทุกวิชาทั้งหมดของโรงเรียน การที่ต้องให้กระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าภาพ เพราะหากให้โรงเรียนเป็นผู้ดูแลระบบเอง ก็จะเป็นปัญหาเรื่องของพื้นที่ในการจัดเก็บเนื้อหาและการบำรุงรักษา แต่ก็สามารถที่จะให้ทุกโรงเรียนที่มีความพร้อมบริหารจัดการระบบเองก็สามารถทำได้ ซึ่งระบบนั้นก็ต้องสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา 

โอเพนซอร์ส LMS

ปัจจุบันมีแพลตฟอร์ม LMS ที่สามารถนำมาติดตั้งและใช้งานได้ฟรีโดยลิขสิทธิ์ในรูปแบบโอเพนซอร์ส เรื่องนี้ก็จะลดปัญหาเรื่องงบประมาณค่าลิขสิทธิ์ลงไปได้เป็นจำนวนมาก เช่น ซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า https://moodle.org

Moodle ถูกสร้างมาตั้งแต่ ปี 2002 โดย Martin Dougiamas มีจุดประสงค์เพื่อช่วยคุณครูหรือผู้ที่ทำงานด้านการศึกษาให้สามารถสร้างบทเรียนออนไลน์ และเปิดให้นักพัฒนาทั่วโลกช่วยกันพัฒนาและเปิดให้เป็นลิขสิทธิ์แบบเปิด ปัจจุบันก็ยังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

แพตฟอร์ม https://open.edx.org/ โดย Harvard และ MIT เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2012 และได้เปิดให้เป็นลิขสิทธิ์แบบเปิดเช่นกัน สามารถดาวน์โหลดนำมาติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และปัจจุบันรองรับการแสดงผลทั้งแบบหน้าจอคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เคลื่อนที่

ระบบ e-book สำหรับนักเรียนและครู ระบบ e-book กลางสำหรับหนังสือเรียนทุกชั้นปีของการศึกษาขั้นพื้นฐานก็จะสามารถรองรับการเรียนออนไลน์ได้ และสามารถให้ฟรีได้กับนักเรียนทุกคนโดยไม่ต้องมีความเหลื่อมล้ำเรื่องของหนังสือเรียน

SCORM Hub

เป็น HUB สำหรับแบบฝึกหัดช่วยสอนจากส่วนกลางที่สามารถนำไปใช้งานประกอบการสอนออนไลน์ให้กับผู้สอนได้ เพื่อแก้ปัญหาการสร้างสื่อการสอนขั้นสูงของครูผู้สอน โดยสื่อแบบฝึกหัดนี้รองรับมาตรฐาน SCORM เพื่อให้คะแนนเก็บลงในระบบ LMS ได้ บทเรียนในรูปแบบ SCORM เปรียบเสมือนบทเรียนสำเร็จรูปที่สามารถนำไปใช้งานได้ทันที ซึ่ง SCORM เป็นตัวย่อของคำว่า Sharable Content Object Reference Model

LMS สำหรับการสร้างสรรมถนะครู

ระบบ e-learning เพื่อพัฒนาเสริมสร้างสรรถนะครูให้สร้างสื่อการสอน สร้างแบบฝึกหัดในรูปแบบ SCORM และนำไปแจกจ่ายกันในระบบ SCORM HUB ของส่วนกลาง นอกจากจะพัฒนาครูในการทำสื่อการสอน ยังเป็นการฝึกอบรมครูเพื่อพัฒนาความรู้ในสายวิชาที่สอน ให้เกิดความรู้และตามทันเนื้อหาใหม่ๆที่เกิดขึ้น

บทความโดย

 

อาจารย์ภาณุภณ พสุชัยสกุล (บก.เก่ง)
บรรณาธิการบริหารนิตยสารโอเพนซอร์สทูเดย์ https://opensource2day.com
นักจัดรายการวิทยุ 101dotnet Digital ทาง FM101 ทุกวันเสาร์ 11.00-12.00 น.
ช่วงไอที รายการ 101 Morning Call with Varin Sachdev ทุกวันพุธ 6.40-7.00 น.
อาจารย์พิเศษ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิทยากร ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ โปรแกมมิ่ง แอปพลิเคชั่น เว็บไซต์ ฯลฯ
นักเขียน, ที่ปรึกษา, ผู้ทรงคุณวุฒิ
คณะทำงานด้านการศึกษาปัญหาและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสหกรณ์ สหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำกัด

กำลังศึกษาต่อ
ระดับปริญญาเอก สาขาวิชาบริหารอาชีวะและเทคนิคศึกษา แขนงวิชาวิจัยและพัฒนาหลักสูตร คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

Share this post

Submit to FacebookSubmit to TwitterSubmit to LinkedIn