หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร ใหม่

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

จากการที่มีคดี ที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาเกินจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และตอนนี้กัญชาก็กำลังเป็นที่นิยม จึงทำให้ คณะกรรมการอาหารและยา ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ. ศ. 2564 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 เพื่อให้มีความชัดเจนและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ของพระราชบัญญัติอาหารปี 2522 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อ

ปัจจุบันเราจะพบว่า การโฆษณาในสถานีโทรทัศน์นั้นมี ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์ทางยา รวมถึงพระเครื่อง เข้ามาโฆษณาในฟรีทีวีและทีวีดิจิทัลมากขึ้น ก็เนื่องจากว่าปัจจุบันเม็ดเงินโฆษณาไปอยู่บนออนไลน์ จึงทำให้ ค่าโฆษณา ทางช่องทางทีวีนั้นถูกลง จากสมัยก่อนนาทีละ 300,000 - 500,000 บาท แต่ปัจจุบันบางเวลาเหลือนาทีละ 50,000 จึงทำให้เราเห็นทีวีดิจิทัล ไม่ต่างกับทีวีดาวเทียม

ถ้าจะตีความกฎหมายฉบับนี้แล้วว่าเกี่ยวข้องกับการโฆษณาผ่านทางอินเทอร์เน็ตหรือไม่ผมก็ขอตีความตามความเข้าใจดังนี้นะครับ ผู้ใดประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารทางวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ทางฉายภาพภาพยนตร์ หรือทางหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่น หรือด้วยวิธีการอื่นใดเพื่อประโยชน์ในทางการค้า

มาสะดุดตรงตอนท้ายของข้อความก็คือ "หรือด้วยวิธีการอื่นใดเพื่อประโยชน์ในทางการค้า" ซึ่งตรงนี้มองว่าเกี่ยวข้องกับการโฆษณาทางช่องทางอินเทอร์เน็ตโดยตรง การโฆษณาผ่านทางอินเทอร์เน็ตนั้นได้ทั้งภาพและเสียง หรือจะเป็นภาพอย่างเดียว หรือเสียงอย่างเดียวก็ตรงกับความหมายของสื่อโฆษณาที่ทาง อย. กำหนด

ต่อไปนี้โฆษณาต่างๆ นั้นจะต้องผ่านการตรวจได้รับอนุญาต ในการโฆษณา ก่อนที่จะถูกนำไปใช้ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ต้องทำแบบนั้นเช่นเดียวกันเพียงแต่ว่า ในประกาศฉบับปัจจุบันนี้ อ่านแล้วมาสะดุดตรงบัญชีแนบท้ายหมายเลข 1 ซึ่งจะมีคำไม่อนุญาตในการโฆษณาคุณภาพ คุณประโยชน์ หรือสรรพคุณทางอาหาร เช่น คำว่า


ศักดิ์สิทธิ์ มหัศจรรย์ ปาฏิหาริย์ วิเศษ เลิศที่สุด ดีเลิศ ชนะเลิศ ชั้นเลิศ เลิศ ล้ำเลิศ เลิศล้ำ ยอด ยอดเยี่ยม ยอดไปเลย เยี่ยมยอด เยี่ยมไปเลย สุดยอด ที่หนึ่ง หนึ่งเดียว ที่หนึ่งเลย ที่สุด ดีที่สุด ดีเด็ด สูงสุด เด็ดขาด หายห่วง หายขาด หมดกังวล สุดเหวี่ยง ไม่มีผลข้างเคียง ไร้ผลข้างเคียง อย. รับรอง ปลอดภัย เห็นผลเร็ว

ผมอานมาถึงตรงคำที่ไม่อนุญาต ในประโยคแรก ศักดิ์สิทธิ์ มหัศจรรย์ ปาฏิหาริย์ วิเศษ อันนี้น่าจะเป็นเรื่องของพระเครื่องหรือเปล่าครับ ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับคุณภาพ คุณประโยชน์ในการโฆษณาของอาหารแน่ๆ แต่ประกาศฉบับนี้ เป็นเรื่องของอาหารและยาก็คงเป็นเรื่องของอาหารและยาล่ะครับ

ข้อความที่สื่อแสดงสรรพคุณอันทำให้เข้าใจว่าสามารถบำบัดบรรเทารักษาป้องกันโรคหรืออาการของโรคหรือความเจ็บป่วย เช่น

ลดคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต ลดไขมันในเส้นเลือด ลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันโรคหัวใจ โรคมะเร็ง เนื้องอก โรคเบาหวาน หลอดเลือดแข็งตัว ภูมิแพ้ หอบหืด บรรเทาอาการปวดหัว ไมเกรน อาการขาบวม และ เส้นเลือดขอด

จริงๆ แล้วยังมีข้อห้ามอีกเยอะมากให้เพื่อนๆ ลองอ่านประกาศดูก่อน โดยเฉพาะข้อ 2.2 2.3 ในมุมมองผม เป็นเรื่องเกี่ยวสมรรถภาพทางเพศและสรีระที่ต้องประสงค์ ผลกระทบจากประกาศครั้งนี้ ทำให้ผู้ที่จะต้องโฆษณา และมีตัวแทนขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต จะต้องพบกับความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากว่าส่วนใหญ่แล้วข้อความรูปภาพและเสียงที่อยู่ในทางอินเทอร์เน็ต อาจจะไม่เคยได้ขออนุญาตมาก่อน หรือถ้าหากมีการขออนุญาต ทางเจ้าของผลิตภัณฑ์ คงจะต้องควบคุมตัวแทนจำหน่ายในการที่โฆษณามากขึ้น

ผลกระทบกับผู้ค้าขายออนไลน์
หากจะต้องมีการควบคุมการโฆษณา จะเป็นเรื่องท้าทายมากสำหรับการควบคุมตัวแทนจำหน่าย หรือผู้ค้ารายย่อยที่ขายกันอยู่ในอินเทอร์เน็ต จะต้องระมัดระวังในการใช้ข้อความต่างๆ เหล่านี้ด้วย หลังจากที่เรื่องนี้ ถูกประกาศออกมาใช้งานก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ที่ขายของออนไลน์ ผู้ที่ต้องไลฟ์ขายสินค้าเหล่านี้ ต้องมีการระมัดระวังในคำพูดมากขึ้น ผู้ผลิตรายใหม่ที่เพิ่งจะออกสินค้ามา จะต้องทบทวนข้อความ คำโฆษณา

บริษัทผู้ผลิตจะมีการห้ามไม่ให้ ตัวแทนจำหน่าย โพสต์ขายสินค้าโดยใช้ข้อความของตัวเองหรือจะต้องเข้ามากำกับให้เป็นรายบุคคลไป เพื่อป้องกันผลกระทบกับเรื่องนี้

ประกาศฉบับนี้ ผู้ที่ทำสื่อโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตอย่างเช่น เว็บไซต์ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาบทความที่อยู่ในเว็บไซต์ ก็จะส่งผลกระทบกับเรื่องคำสืบค้นที่เปลี่ยนไป คำสืบค้นต่างๆ ที่นำมาสร้างประโยค ข้อความ ในการเขียนขายเชิญชวน และโดยมากผู้ใช้งานทั่วไปก็จะใช้วิธี สืบค้นด้วย คุณประโยชน์ สืบค้นด้วยสรรพคุณ การรักษา เรื่องนี้ก็จะส่งผลกระทบกับนักการตลาดว่าจะแก้เกมส์นี้อย่างไร

ข้อความที่อยู่ตามเว็บไซต์รวมถึง ข้อมูลส่วนหัวของเอกสารเว็บ ที่ใส่ไว้เพื่อการสืบค้นของแต่ละเว็บนั้น ก็จะมีผลกระทบกับเว็บไซต์ หากข้อความเหล่านั้นเป็นข้อความต้องห้าม ก็ต้องมานั่งศึกษาหาข้อมูลกันใหม่ว่า ผู้ที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาสืบค้นคำว่าอะไร

หลังจากที่ประกาศนี้บังคับใช้มา เกือบ 1 อาทิตย์ ก็ยังพบว่า ยังไม่มีการตื่นตัวกันในโลกอินเทอร์เน็ต ยังพบรูปภาพ Before After ให้เห็น มีคำว่า โยโย่ ซึ่งเป็นข้อความที่ไม่ให้ใช้ ยังมีการโฆษณาสรรพคุณรักษาหาย ให้เห็นอยู่อีกมาก เชื่อว่าอีกไม่ช้าเราคงได้เห็นคดีเหล่านี้เกิดขึ้นให้เห็นแน่ๆ ครับ

Share this post

Submit to FacebookSubmit to TwitterSubmit to LinkedIn